เคยสงสัยไหมว่า เมื่อเวลาเราไปใช้บริการในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร จะมีพนักงานคอยบริการเราอยู่อย่าง เต็มที่ บ้างก็เจอ ที่เต็ม ไม่มีไว้เผื่อสำหรับเรา แล้วเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายเงิน แล้วทำไมเราถึงต้อง ทิป แล้วเมื่อไหร่เราควรจะให้ทิป หรือณ เวลานี้เราควรจะให้ ทิป เขาหรือเปล่า หรือไว้ให้ทีเดียวตอนจ่ายเงิน ฯลฯ แ้ล้วถ้าจะให้ ควรให้เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ถ้าไม่ให้จะเป็นการเสียมารยาท หรือขี้ตืดไปหรือเปล่า ถ้าให้มากไปอาจถูกล้อว่าโง่ หรือไม่ ต่างๆนาๆ

หลายครั้งหลายหนแล้วเกิดกับตัวเองที่ต้องตกอยู่ในสภานการณ์ที่ต้อง ทิป และก็นึกไม่ออกว่าจะต้องเท่าไหร่ดี ให้ดีหรือไม่ เกิดบ่อยหากต้องอยู่ต่างประเทศ จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหามากหากอยู่ในประเทศไทย ในที่ๆ คุ้นเคย แต่คงเพราะเกิดจากสาเหตุที่ว่าการให้ทิป เค้าว่าไม่ใช่ธรรมเนียมในประเทศไทย และคิดว่า อยากให้ก็ให้ ไม่อยากให้ก็ไม่ให้ ในเมื่อบริการไม่ดีทำไมต้องให้ เพราะมันเป็นเรื่องของความพอใจ ซึ่งความหมายของทิป Tip ก็คือเงินจำนวนหนึ่งที่ผู้ใช้บริการมอบให้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ตนเอง โดยจ่ายเพิ่มเติมเป็นพิเศษนอกเหนือจากค่าบริการหลักนั้นๆ

ทีนี้มันไม่ได้บอกว่าต้องให้พร้อมกับค่าบริการนั้นหรือต้องให้ก่อน ต้องให้ระหว่าง ฯลฯ สมัยที่ธรรมเนียมการให้ทิปมาถึงเมืองไทยเค้าว่า คนที่ไม่สันทัดภาษาก็จะพูดทำนองว่า ถีบ จนมีเรื่องโกรธเคืองกันยกใหญ่ แต่พอรู้ว่าเป็นอะไรเลยกลายเป็นว่า อย่าลืมถีบผมหนักๆ นะครับพี่ ไปซะงั้น พอมาถึงยุคสมัยใหม่นี้ การให้ทิปก็ไม่ใช่เรื่องชัดเจนมากสำหรับหลายๆ คนรวมทั้งผม เนื่องจากยังมีความลังเลไม่แน่ใจว่าต้องทำตัวอย่างไรในบางสภานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทิป คือ การบริการที่เกิดขึ้นในร้านอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยวต่างๆ ที่ผู้ให้บริการก็จะเป็นพวก พนักงานเสิร์ฟ คนเฝ้าประตู คนยกกระเป๋า คนขับรถ แม่บ้าน คนเฝ้าห้องน้ำ ไกด์ ช่าง ฯลฯ

จากที่ศึกษาและสังเกตุการณ์อยู่พักใหญ่ก็สรุปได้ว่า ทิป เป็นสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ โดยสมัครใจทั้งผู้ให้และผู้รับในบางพื้นที่ ขอย้ำว่า ในบางพื้นที่ เพราะหลายๆ แห่งอย่างโรงแรม ร้านอาหารทั่วไป ไม่จำเป็นต้องให้ทิป เพราะโดยทั่วไปเค้าจะบริการและรวมค่าอาหารกับค่าบริการนั้นไว้ในราคาอาหารเสร็จสรรพ และอาจระบุหรือไม่ระบุก็เป็นอันว่าใช่เสียส่วนใหญ่ โดยค่าบริการหรือ Service Charge นั้นจะถูกกำหนดเป็นค่าร้อยละของจำนวนเงินที่เราต้องจ่ายให้แก่บริการนั้นๆ ไว้แล้ว ทั่วไปอยู่ที่ 5% เงินที่ทอนมาให้และเราไม่เอาคืน นั่นถือว่าเราจ่ายส่วนต่างที่ไม่ควรจะจ่ายให้เค้าไป ทำได้ถ้าคุณมีน้ำใจและรวยพอ หากทำบ่อยๆ ก็หลายตังก์อยู่

ประเทศต่างๆ มีธรรมเนียมการให้ทิปแตกต่างกันไป เช่นที่ฝรั่งเศส มีกฏหมายให้ภัตตาคารบวกค่าบริการได้ ขณะที่อเมริกาเองไม่บังคับ พนักงานเสิร์ฟของฝรั่งเศสส่วนใหญ่จึงมีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี ไม่ต้องพึ่งพาทิป แต่ในอเมริกา เงินเดือนน้อยแต่รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากทิป เมื่อไปกินอาหารในฝรั่งเศสที่บวกค่าบริการเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องจ่ายเพิ่มให้กับพนักงานเสิร์ฟ แต่ถ้ารู้สึกว่าได้รับบริการดีเยี่ยม (ซึ่งก็สมควรจะได้) ก็อาจให้เพิ่มเล็กน้อย ทั้งนี้ก็ควรดูสมาชิกที่ไปด้วยกันด้วยว่า ไปกันเยอะแค่ไหน ส่วนมากก็ไม่เกิน 5%

tip-service-charge ค่าทิป

ในเมืองไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะร้านอาหารใหญ่ๆ ทั้งในห้างและตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป หรือแม้แต่ในโรงแรม มักเขียนบอกไว้ในเมนูว่ามีค่าบริการเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นกติกาสากล ไม่ว่าประเทศไหนก็หมายถึงว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายส่วนต่างหรือทิปอีก ใครจะให้ก็เป็นเรื่องของเขา ซึ่งเราไม่เกี่ยว ยกเว้นจะไม่มีระบุไว้ในใบรายการอาหาร แต่ก่อนจะใช้บริการก็ควรสำรวจดีๆ ก่อนคร่าวๆ ว่าควรให้หรือไม่ให้ดี เพราะบางแห่ง แม้จะบวกค่าบริการเข้าไปแล้วแต่ก็ไม่ได้ระบุไว้ในรายการใบเสร็จหรือบิลค่าบริการ

ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับทิป หากไปเที่ยวประเทศในแถบยุโรป ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่ง

  • – พนักงานยกกระเป๋าควรได้ประมาณ 0.5-1 ยูโรต่อกระเป๋าหนึ่งใบ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานจากที่ไหนก็ควรได้รับ
  • – แม่บ้านของโรงแรมควรได้ประมาณ 1-1.5 ยูโรต่อวัน
  • – ช่างทำผมควรได้ประมาณ 10% ของค่าทำผม
  • – พนักงานประจำห้องน้ำควรได้รับ .30-.50 ยูโร ซึ่งส่วนใหญ่จะติดประกาศไว้ชัดเจน
  • – ไกด์ท้องถิ่นในแต่ละสถานที่ควรได้ 1-2 ยูโรต่อครั้ง ส่วนไกด์ที่นำเที่ยวเป็นหมู่คณะควรได้ 2-5 ยูโรต่อทัวส์จากลูกทัวส์แต่ละคน
  • – คนขับรถควรได้ประมาณ 10% ของค่าโดยสารไม่ว่าจะนั่งไปกี่คนก็ตาม

ยังไงเสีย การให้ทิปก็เป็นเรื่องของความพอใจล้วนๆ ของผู้ให้และผู้รับ แต่ในบางประเทศค่าแรงงานอาจน้อยมาก นอกจากค่าทิป จึงต้องมีค่าธรรมเนียมเกิดขึ้น (ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยุโรป ที่น่าจะมีค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนตายตัว ไม่น่าเชื่อว่าต้องมาหากินกับค่าทิปซะงั้น)

อ้างอิง ควรทิปอย่างไร Gourmet & Cuisine