ต่อจากเรื่องกับข้อสงสัยเรื่องบุญ-กรรม มีจริงหรือ? ไปแล้ว วันนี้ก็กลับมาว่ากันต่อด้วยเรื่อง เวรกรรม บาปบุญ ผมเคยตั้งคำถามไปยังผู้รู้หลายคน กลับไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ ก็เลยหาข้อมูลและสรุปเอาเองว่า บาปบุญ เวรกรรม เหมือนหรือต่างกัน อย่างนี้ ก่อนอื่นต้องยกคำมาอ้างก่อน เช่น บาปบุญคุณโทษ บาปกรรม เวรกรรม บุญคุณ ฯลฯ คือทั้งหลายทั้งปวง ก็จะเวียนกันอยู่แค่ 3-4 คำ นั่นคือ บาป บุญ เวร กรรม เท่านั้นเอง
ทีนี้ผมจะแยกย่อยให้ฟังตามที่ผมมีแนวคิดเอาไว้เกี่ยวกับ บาปบุญ เวรกรรม เหมือนหรือต่างกัน คือ…
เวรกรรม : ตัวนี้แยกออกได้ 2 ข้อคือ “เวร” และ “กรรม” เวรคือ “ตัวนำ” ที่จะนำพากรรมมาสู่เรา ส่วนกรรม ก็คือ “การกระทำ” เรามักจะคุ้นชินกับคำว่า เจ้ากรรม นายเวร จริงๆ แล้วมันก็คือ “ตัวนำ” หรือ “ตัวชี้นำ” ที่จะนำผลดีและไม่ดีจากตัวหนึ่งมาสู่อีกตัวหนึ่งนั่นแหละ ไม่ใช่วิญญาณบ้าบออะไรหรอก หลักคิดง่ายๆ คือ อยู่ดีๆ จะมีสิ่งนั้นมาหาสิ่งนี้แบบถูกต้องแม่นยำ มันเป็นไปไม่ได้ มันจะต้องมีตัวนำเป็นตัวช่วยให้สิ่งต่างๆ มาหากันได้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีตัวนำหรือตัวชี้นำ มันก็มั่วกันไปหมด
บาปบุญ : อันนี้ก็แยกได้ 2 ข้อเหมือนกัน แต่ทั้ง 2 ข้อนี้ก็เรียกรวมกันเป็นกรรม โดยแยกเป็น “บาป” ก็คือกรรมชั่ว “บุญ” ก็คือกรรมดี โดยทั้งบาปและบุญจะเป็น ผลลัพธ์ ที่จะได้รับกลับเสมอ
เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อเราทำอะไรไว้ก็ตาม การกระทำ (กรรม) นี้ก็จะเกิดมีตัวชี้นำ (เวร) ระหว่างผู้กระทำกับการกระทำนั้นๆ เสมอและมันจะเกิดเป็นผลลัพธ์(บาป-บุญ)เสมอเช่นกัน ดังนั้น การจะสร้างเวรได้ ก็ต้องมีการกระทำ และการจะได้รับกรรม(ดีและไม่ดี)ได้ก็ต้องมีเวร จะเห็นว่ามันเกี่ยวเนื่องกันเป็นวังวนไม่รู้จบ
หากคิดวิเคราะห์ถึงเรื่องของวิธีการตัดกรรม ก็คือการตัดการกระทำ หรือการหยุดกระทำ เมื่อหยุดกระทำ เวรก็ย่อมไม่เกิด เมื่อเวรไม่เกิด ผลลัพธ์ที่จะตามมา(บาปบุญ) ก็ไม่เกิด จบไหม
ทีนี้มาคิดว่า แล้วสิ่งที่ทำไปแล้วมันเกิดเป็นเวรกรรมเกิดบาปบุญไปแล้วทำอย่างไร ง่ายๆ ก็ต้องยอมรับมันไปแล้วก็หยุดการสร้างเวรต่อ หยุดการสร้างเวร ก็คือการหยุดการกระทำนั่นเอง จบไหม
ลึกเข้าไปอีก ถ้าอ้างเรื่องบาปบุญให้พิจารณาจากเจตนา แบบนี้ถูกแต่ไม่ทั้งหมด พุทธเจ้าแค่สรุปให้เราสบายใจ แต่จริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้เงื่อนไข เวรกรรม ทั้งสิ้น อย่างเช่น คำถามว่า กรรมที่ไม่มีเจตนาต้องรับผลกรรมไหม? พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เจตนาหังภิขเว” เจตนาเป็นกรรม ถ้าไม่มีเจตนา ไม่เป็นกรรม ยกตัวอย่างเช่น ขับรถชนคนตาย ไม่มีเจตนา ถือว่าไม่เป็นกรรม แต่ต้องรับผลกรรมเพราะมีการกระทำ มีการทำให้คนตาย ผลมีคนตาย
จากข้อมูลนี้ผมว่าไม่ถูกไปทั้งหมด ก็คือ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ แต่เมื่อมีการกระทำ(กรรม)ไปแล้ว ก็ย่อมเป็นตัวกำหนดให้เกิดเวรได้ เมื่อมีคนตายคือผลลัพธ์ เวรย่อมส่งผลต่อผู้กระทำเสมอ ถามว่ากรณีนี้บาปไหม ถ้าคิดว่าไม่บาปก็เว่อร์ไปหน่อย แบบนี้ถ้าใครซักคนหลับหูหลับตาขับรถชนแล้วอ้างว่าไม่เจตนาจริงๆ (เจตนาคือจิต เราสามารถคุมจิตว่าจริงหรือไม่จริงก็ได้) แบบนี้ไม่บาปก็ไม่ใช่เรื่อง แต่พุทธเจ้าตรัสไว้ว่าไม่บาป คือให้เราละทิ้งบาป (แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่บาปจริง ยังบาปอยู่ เพียงแต่ให้ละทิ้งไปก่อน) แต่ก็มีบางคนก็สามารถละทิ้งได้จริง คือปล่อยวาง ไม่แยแส ไม่สนใจ หรือใช้ปัจจัยอื่น เช่นเงิน ช่วยละทิ้งได้ (ไม่สนใจ ไม่แยแส หรือสารภาพบาป หรือทำอะไรก็ได้ให้จิตกำหนดไปว่ามันไม่บาป)
กรณีนี้ถ้าบอกไม่บาป ก็เกินไปล่ะ ไม่บาปแต่ต้องรับกรรม มันก็เลยขัดกับหลักแนวคิดไปอีก ทำกรรมสมบูรณ์แต่ไม่บาป(เพราะไม่เจตนา) งงไหม ถ้าเอาเข้าจริงกรณีนี้คือ ทำกรรมสมบูรณ์และได้รับผลกรรม(คือบาปบุญ)ถึงจะถูก ในทางโลกคืออาจจะชดใช้ด้วยอะไรก็ตาม แต่ในทางวิญญาณล่ะ ถ้าหากว่าไม่บาป แสดงว่าไม่เข้ามาในวังวนของวงจรเวรกรรมบุญบาป มันท่าจะประสาท มันผิดกฏธรรมชาติกันไปใหญ่
อีกกรณีคือยังไม่หายสงสัย ถ้าสามารถหยุดการสร้างเวรต่อได้ก็จะหลุดพ้นจากบ่วงกรรมอีก อันนี้ก็เริ่มงง เหมือนตัวที่จะกำหนดให้ออกมาในรูปแบบไหนคือจิตอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าเอาจิต(เจตนา)มากำหนดบาปบุญ คนที่เก่งควบคุมจิต ก็สบายเลยดิครับ มันเลยเป็นที่มาของการฝึกจิต นั่นไง
กลายเป็นว่า บาปบุญ เวรกรรม จะเป็นเรื่องไร้สาระไปเลย ถ้าเจอกับคนควบคุมจิตได้เก่ง หรือ??