การท่องเที่ยวถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่วิตกกังวลกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะมีบทสรุปอย่างไร ด้านนายกรัฐมนตรีก็ยังดื้อด้านอึมครึมกลัวดอกพิกุลจะร่วง จึงเป็นปัญหาคาราคาซังที่หลายๆ ฝ่ายเตรียมรับมือกับวิกฤติต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวถึงแผนเฉพาะหน้าในขณะนี้ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดตกลงร่วมกันจะสื่อสารข่าวสารต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวจากแหล่งเดียว คือ ศูนย์ปฏิบัติการวางแผนการท่องเที่ยว และศูนย์ปฏิบัติการในภาวะวิกฤต ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลจากทุกฝ่าย ทำหน้าที่ประเมินข่าวสารจากทุกหน่วยงานออกมาเป็นแผนตั้งรับ รวมถึงแผนสำรองช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกรณีเกิดเหตุการณ์รุนแรง ด้วยการทำงานแบบ 24 ชั่วโมง

ส่วนการประเมินผลกระทบ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ยืดเยื้อรุนแรง จะมีเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯที่ยอดเข้าพักลดลงประมาณ 50% ส่วนยอดการจองเข้าพักในช่วงสงกรานต์ที่เต็มเกือบ 100% ยังต้องจับตาดูสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไป เพราะส่วนใหญ่เป็นการจองแบบไม่วางมัดจำ

ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นความหวังอีกตลาดหนึ่งของไทย นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวว่า จะติดตามสถานการณ์ช่วงสิบวัน ต่อไปนี้อย่างใกล้ชิด และแจ้งข่าวสารแบบวันต่อวัน

ถ้าการชุมนุมดำเนินไปด้วยสันติวิธี คาดว่านักท่องเที่ยวจีนซึ่งจองเที่ยวบินเช่าเหมาลำมากว่า 100 เที่ยวบิน ในช่วงสงกรานต์ 13-23 เมษายนนี้ จะไม่ยกเลิกการเดินทาง เพราะได้รับคำยืนยันว่าคนจีนยังต้องการมาท่องเที่ยวในไทยสูงมาก แต่ตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับทีท่าของรัฐบาลจีน ซึ่งขณะนี้ออกคำแนะนำการท่องเที่ยว (travel advisory) ในระดับ 4 คือให้ทบทวนการเดินทางมาไทย ยังไม่ได้รุนแรงถึงสั่งห้ามไม่ให้เข้ามาเที่ยว คาดว่าทางการจีนจะคงคำเตือนในระดับนี้ต่อไป ถ้าไม่มีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามถ้าการชุมนุมยืดเยื้อ สมาคมมีแผนรักษากลุ่มลูกค้าด้วยการปรับเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ เสนอให้บินตรงไปยัง ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ซึ่งวิธีนี้ยอมรับว่าจะรักษาลูกค้าไว้ได้เพียง 10-20% เท่านั้น

ท่องเที่ยว MICE ภูเก็ต phuket-mice-travel

“ถ้าเหตุการณ์จบได้เร็วภายในสิบวัน ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนหายไปเพียง 10,000-20,000 คน เงื่อนไขเดียวที่นักท่องเที่ยวจีนต้องการคือความสงบและปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ไม่มีการปิดสนามบินอีก”

ต่างจากธุรกิจการจัดประชุมและ ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ (meeting incentive convention and exhibition : MICE) ที่ดูจะได้รับผลกระทบมากกว่า

นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) ยอมรับว่า ช่วงเดือนมีนาคม ธุรกิจไมซ์ได้รับผลกระทบที่สุด มีการยกเลิกประมาณ 3,000 ห้อง ประเมินมูลค่าเสียหายเบื้องต้นราว 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นตลาด ระยะสั้น เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง

แผนการสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่ม MICE ปัจจัยสำคัญคือ ภาครัฐต้องรับรองด้านความปลอดภัย เพราะในระดับเอกชนหรือองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่าง ททท. สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ไม่มีน้ำหนักพอจะให้ความมั่นใจให้กับต่างชาติได้

แต่จากประสบการณ์ในการรับมือเหตุการณ์ชุมนุมในอดีต เชื่อว่าถ้าสถานการณ์ยุติลงเมื่อไหร่ ตลาดไมซ์จะฟื้นกลับมาได้เร็ว

นายสุรพล ศรีตระกูล นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า สถิตินักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านทางบริษัทนำเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 มีนาคม 2553 มีจำนวน 643,218 คน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่ได้ 376,178 คน ขณะที่สถิติเฉพาะวันที่ 1-15 มีนาคม 2553 อยู่ที่ 122,242 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีเพียง 83,146 คน และภาพรวมยังดีกว่าช่วงก่อนปิดสนามบินเมื่อปี 2551 ซึ่งมี นักท่องเที่ยว 111,264 คน

สำหรับตลาดที่มีผลกระทบคือภูมิภาคเอเชีย อย่างจีน ฮ่องกง ขณะที่ยุโรปไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ประเด็นหลักที่คู่ค้าต่างประเทศต้องการคือ เหตุการณ์ไม่ยืดเยื้อไปกว่าวันที่ 23 มีนาคมนี้ เพราะจะมีผลทันทีต่อการตัดสินใจจองทัวร์ล่วงหน้า สำหรับเทศกาลสงกรานต์

ด้าน นายฟองซัว เกอร์โนลต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรานส์ แทรเวล จำกัด เปิดเผยว่า ลูกค้าตลาดหลักจากฝรั่งเศสยังเดินทางเข้ามาเป็นปกติกรุ๊ปละ 20-30 คนต่อวัน จากการสอบถามนักท่องเที่ยวไม่กังวลกับเหตุการณ์ เพราะเคยชินกับการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและเคยชินสำหรับชาวยุโรป แต่รัฐบาลไม่ควรออก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลานี้ เพราะจะมีผลต่อตลาดยุโรปทันที เนื่องจากฝรั่งเศสมี กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค บริษัทนำเที่ยวจะยกเลิกทัวร์มาไทยทันทีหากมีสัญญาณว่ามีความไม่สงบเกิดขึ้น

ภาพ : thaigoodview dot com