ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน จะเป็นชาวไทย หรือต่างประเทศ ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยใช้เกณฑ์การตัดสินใจและวัดค่าของคน จากผลของความรู้สึกของตนเองเสียส่วนใหญ่ มองอย่างผิวเผินและขาดการพิจารณาให้ถ้วนถี่ มากกว่าภาระหน้าที่และความสำคัญที่มีอยู่จริง โดยไม่ได้มองให้ลึกซึ้งถึงความเป็นไปได้ ว่า แต่ละหน้าที่ แต่ละคน มีความสำคัญไม่มาก และไม่น้อยไปกว่ากันเลย
ยกตัวอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับคน ซึ่งมีลักษณะที่ผิดเพื้ยนไปจากความเป็นจริงมาก ตั้งแต่ ภายในครอบครัว ไปจนถึง องค์กร หน่วยงาน และ สถาบันที่ยิ่งใหญ่ แถมผู้นำหรือผู้บริหาร ก็ยังยึดติดกับความคิดเก่าๆ เดิมๆ ไม่สามารถปลดแอก ระบอบความสำคัญที่มีแต่เพียงเปลือกนอกได้ และปัญหาที่ตามมา ก็อาจจะก่อให้เกิดการบ่มเพาะความน้อยเนื้อต่ำใจแก่คนผู้ถูกกระทำให้มากขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ
การให้ความสำคัญกับคนแบบผิดวิธี
ในส่วนของ ครอบครัว มักจะเห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ผู้ที่ทำงานนอกบ้าน มักจะได้อภิสิทธิ์ชน มากกว่าผู้ที่อยู่แต่ที่บ้าน ซึ่งในความเป็นจริง ลักษณะการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภายในบ้าน หรือนอกบ้าน ล้วนแต่เป็นการทำงานเหมือนกัน จะหนักเบา ขึ้นอยู่กับลักษณะงานเป็นส่วนสำคัญ แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังชอบให้ความสำคัญกับ คนที่ทำงานนอกบ้าน ซึ่งเป็นตัว หารายได้ มากกว่าคนทำงานในบ้าน ที่ไม่มีรายได้ใดๆ
แต่รู้หรือไม่ว่า งานบ้าน ที่ต้องทำซ้ำๆ กันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการล้างถ้วยล้างจาน งานการซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำกับข้าว เลี้ยงเด็ก เวลาแค่ 8-10 ชั่วโมงนี่แทบจะไม่ได้พักกันเลย แต่การทำงานนอกบ้าน โดยเฉพาะการทำงานใน Office ได้นั่งห้องแอร์ ทำงานชิวๆ ได้กินข้าวตรงเวลา ใช่แต่สมองไม่ได้ใช้แรงกายมากนัก แทบจะไม่ได้ออกแรงอะไรเลยให้มันหนักหนา กดดันเฉพาะความคิดซึ่งก็แค่นั้น แต่งานบ้าน กดดันทั้งความคิดและร่างกาย แม้จะไม่ได้เงิน ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญในทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่ควรตัดสินว่า คนทำงานนอกบ้านควรจะได้อภิสิทธิ์ทุกเรื่อง และปล่อยภาระต่างๆ ให้เป็นงาน ของคนที่ไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน ให้รับภาระต่อไป
ในส่วนของ องค์กรและหน่วยงาน ต่างๆ มักจะให้ความสำคัญกับคนที่ ทำรายได้เข้าองค์กร มากกว่าฟันเฟืองเล็กๆ ในตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ โดยลืมนึกถึงความสำคัญว่า หากไม่มีตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ นั้น บริษัทก็ขับเคลื่อนไปไม่ได้ ลองนึกดูว่า หากให้ความสำคัญกับตำแหน่งพนักงานขาย ที่ทำรายได้เข้าองค์กรเดือนละหลายแสนหลายล้าน แต่ไม่มีคนคอยวางแผน ไม่มีคนคอยทำอะไรหลายอย่างให้ลูกค้าพอใจ เพื่อที่จะซื้อ สินค้า นั้นๆ ไม่มีผู้ผลิตสินค้านั้นๆ แล้วฝ่ายขาย จะขายสินค้านั้นได้หรือไม่ ฝ่ายขาย จะเอาสินค้าไหนไปขาย
มันยุติธรรมหรือ???
เหมือนกับการเห็นยอดอ่อนของใบชา ดีกว่าราก ดีกว่าต้น ดีกว่าใบแก่อื่นๆ จนลืมไปว่า หากไม่มีราก ไม่มีลำต้น ไม่มีใบแก่ ยอดอ่อนใบชา จะชูช่อออกมาให้สวยงามพร้อมจะนำไปทำชาคุณภาพ ได้หรือไม่
เหมือนกับการเห็นเข็มนาฬิกา ที่ถูกให้ความสำคัญกับ เข็มสั้น- เข็มยาว แต่ลืมมองไปหรือไม่ว่า ถ้าไม่มีเข็มวินาที (หรืออาจไม่มี) ถ้าไม่มีฟันเฟืองเล็กๆ ถ้าไม่มีชิ้นส่วนที่ทำให้นาฬิกาเดินไปได้ นาฬิกานั้น จะมีค่าหรือไม่
เหมือนอวัยวะของร่างกายแต่ละอย่าง ขา แขน ตา จมูก ปาก หากไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง ชีวิตจะสมบูรณ์หรือไม่ บางคนบอก ขาดบางอย่างไปก็อยู่ได้ มันก็ใช่ หากคุณคิดว่า ครอบครัว หรือองค์กร ขาดแขนขาดขา ขาดตา ขาดปาก เหลือแต่ จมูก เพราะคุณคือลมหายใจขององค์กร ของครอบครัว ขาดคุณ เค้าก็อยู่กันไม่ได้ มันอาจจริงและไม่จริง
แต่การอยู่อย่างคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวพิการ องค์กรพิการ หน่วยงานพิการ ฯลฯ พิการทั้งหลาย
มันเจริญไปไหนไม่ได้