กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่รู้จึกกันดีในชื่อ Provident Fund นั้น หลายคนอาจงงว่า มันคืออะไร ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับกองทุนนี้กันก่อนว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากความสมัครใจของบริษัทหรือองค์กรที่เรียกว่านายจ้างและพนักงานภายในองค์กรหรือลูกจ้าง
โดยกองทุนประเภทนี้มีวัตถุประสงค์ว่า ต้องการสนับสนุนการออมเพื่อเป็นทุนทรัพย์ให้แก่พนักงานที่ทำงานภายในองค์กรนั้นๆ โดยประโยชน์ที่จะได้รับในกรณีที่พนักงานเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือออกจากงาน หรือแม้แต่จะลาออกจากกองทุนเอง ก็จะได้รับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนไว้คืน และเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวของพนักงาน ในกรณีที่พนักงานเสียชีวิตอีกด้วย โดยการจ่ายคืนของเงินสะสมก้อนนี้ มีเงื่อนไขต่างๆ ที่องค์กรหรือบริษัทนายจ้างเป็นผู้กำหนดกฏเกณฑ์ในการจ่ายคืนตามเงื่อนไขต่างๆ แล้วแต่กรณี
ลักษณะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เป็นเงินสะสมและเงินสมทบ โดยตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จากหน่วยงานควบคุมดูแล กองทุนนี้จะประกอบด้วยเงินสะสมจากฝ่ายลูกจ้าง และเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้าง ที่จะสมทบเป็นจำนวนเงินเท่ากับที่ลูกจ้างสะสมไว้ โดยที่ลูกจ้างจะต้องสะสมเงินเข้ากองทุนในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% ของค่าจ้างและสูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และบริษัทนายจ้างจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนในอัตราไม่น้อยกว่าอัตราเงินสะสมของลูกจ้าง และนอกจากนี้ ยังสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เข้ากองทุนได้ด้วย ดังนั้นจะเห็นว่า เงินกองทุนนี้จะเป็นเงินที่ได้จาก 2 ส่วนเท่าๆ กัน จากพนักงานเอง และจากส่วนสมทบจากนายจ้าง
ในส่วนของสภาพนิติบุคคลแยกต่างหาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่จดทะเบียนแล้วมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลแยกจากบริษัทนายจ้างและ บริษัทจัดการกองทุน โดยเด็ดขาด
นอกจากนี้กองทุนดังกล่าวจะไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี คือเจ้าหนี้ของบริษัทนายจ้างหรือของลูกจ้างหรือของบริษัทจัดการกองทุน ไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีเพื่อมีสิทธิในเงินกองทุนได้ ดังนั้นแม้ว่านายจ้างหรือบริษัทจัดการจะประสบปัญหาทางการเงิน หรือถึงขั้นต้องเลิกกิจการไปก็ตาม สมาชิกหรือลูกจ้างที่ส่งเงินสะสมนั้นจะยังคงได้รับเงินกองทุนคืนตามสิทธิและข้อบังคับกองทุนทุกประการ นอกจากนี้สิทธิเรียกร้องในเงินกองทุนก็ไม่ สามารถโอนไปยังผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน
นโยบายการลงทุน บริษัทจัดการต้องจัดการเงินกองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนตามแบบแผนนโยบายการลงทุนของกองทุนทั้งนี้ภายใต้กฎหมายหรือประกาศที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่าเมื่อเงินส่วนนี้มาแล้ว เงินกองทุนดังกล่าวจะไม่ผูกพันกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และไม่ผูกพันกับบริษัทที่นำเงินส่วนนี้ไปลงทุน นั่นคือ หากมีเหตุจำเป็นใดๆ ที่สมาชิกหรือผู้จ่ายเงินสะสมต้องการจะนำเงินส่วนนี้มาใช้ ก็สามารถทำได้ทันทีโดยที่ส่วนของการสะสมจะได้ครบตามจำนวน แต่สำหรับส่วนที่นายจ้างสมทบและกำไรจากกองทุนจะถูกจ่ายและคิดอัตราการจ่ายคืนตามข้อกำหนดของแต่ละนายจ้างอีกครั้ง
คงจะพอเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาบ้างแล้ว หากผู้ที่ต้องการหางานทำหรือกำลังหาบริษัทเพื่อสมัครงานเข้าทำงาน ควรเลือกบริษัทหรือหน่วยงานที่มีสวัสดิการเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ เพื่อเป็นหลักประกันและเพิ่มความมั่นคงให้แก่พนักงาน และครับครัวได้