ถึงแม้ว่าท่านจะยังไม่ใช่คนที่กำลังจะเกษียณอายุ หรือจัดอยู่ในประเภทของคนสูงวัย แต่สังคมปัจจุบันของเรานี้มีคนสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นคนในครอบครัวของเราเอง หรือในสังคมทั่วไปที่พบเห็นได้ง่าย หากเราดูแลหรือแนะนำคนกลุ่มนี้ให้มีความสุขและพร้อมในการดำรงชีวิต ก็ถือเป็นการทำความดีที่มีประโยชน์ และเป็นประโยชน์แก่เราที่จะจัดการชีวิต ก่อนถึงวัยเกษียณอายุ
การจัดการชีวิตให้มีความสุขสำหรับคนสูงวัย
การดูแลสุขภาพกายสำคัญ คนเราเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็จะชำรุดทรุดโทรมลงไปเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวและธรรมชาติของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตและการดูแลรักษาตัวเองในแต่ละวัน ฉะนั้นแล้วเราจำเป็นต้องรักษาร่างกายของตัวเองให้มากที่สุด ทำในสิ่งที่ควรจะทำ อย่าทำร้ายตัวเอง เช่นในเรื่องของการกินอาหาร อย่ากินสิ่งที่จะไปทำลายสุขภาพตัวเองมากเกินไป บางคนบอกว่าแก่แล้วขอตามใจตัวเองหน่อย อยากมีความสุขกับชีวิตที่เหลือ แต่กลับทำร้ายตัวเองด้วยการกินยาพิษโดยที่คิดว่า นั่นคือความสุข ทำร้ายตัวเองวันละเล็กละน้อยทำให้เกิดเป็นโรคสารพัด เพราะตามใจปากเกินไป ทำให้ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษา และต้องนอนโรงพยาบาล ทรมานร่างกายไปนานแสนนานโดยได้ไม่คุ้มเสีย แบบนี้จะมีความสุขจริงๆ ได้อย่างไรกัน
ไม่เพียงแต่คนเราจะต้องห่างไกลกับการกินยาพิษ ยังต้องเลือกกินในสิ่งที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายด้วย และต้องมีวินัยในการกินด้วย วิธีง่ายๆ คือ มื้อเย็นอย่ากินมาก งดอาหารประเภทแป้ง ไขมัน เนื้อสัตว์ย่อยยาก และควรกินผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ ให้มากเพื่อทดแทน และอีกเรื่องที่ใครๆ ยังไม่รู้หรือรู้แล้วแต่ไม่ยอมทำคือการออกกำลังกายในช่วงเย็นหรือก่อนค่ำ เพราะบางคนยึดติดในรูปแบบมากไป ว่าต้องมีสถานที่ ต้องมีอุปกรณ์พร้อม ต้องมีเพื่อน ต้องมีเวลามากพอที่จะทำ ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งกำลังใจอย่างมาก
ในความเป็นจริง หากอยู่ในช่วงคนสูงวัยหรือวัยเกษียณ ก็จะสามารถหาวิธีที่จะออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอได้ทุกๆ วัน อาจเป็นการเดินรอบๆ บ้าน การทำท่ากายบริหารไปพร้อมๆกับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การทำงานบ้าน การทำสวน ขอให้ได้ขยับและได้เหงื่อบ้าง ดีกว่าการอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลย อย่างนั้นร่างกายก็จะร่วงโรยอย่างรวดเร็ว
พัฒนาจิตใจ หลีกเลี่ยงความเครียด ความเครียดนอกจากจะสร้างความทุกข์แล้ว ยังเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ อย่างนี้แล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็อย่าไปเครียด ฝึกตัวเองให้เป็นคนใจเย็นๆ บางคนเป็นโรคทางกายเฉียบพลันเพราะมีความเครียดเกินไป บอกตัวเองว่าเราอยู่มาจนถึงวัยนี้ได้ จะมาทรมานตัวเองด้วยความเครียดไปทำไม ขอใช้ชีวิตแบบสบายๆ บ้างไม่ดีกว่าหรือ
การทำงานหรือกิจกรรมบางอย่างที่มีคุณค่าไม่จำเป็นต้องสร้างรายได้ก็ได้ แต่อาจเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ ทำให้รู้สึกดีที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อจะได้ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ทำให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น มีเป้าหมาย ไม่ฟุ้งซ่านการฝึกสมาธิ ศึกษาธรรมมะบ้าง ไม่ต้องถึงกับขั้นที่จะต้องบรรลุหรือต้องบวช ต้องอยู่วัดเป็นเวลานานๆ ก็สามารถทำได้ เป็นการพัฒนาจิตใจให้มีความสุข สงบและมีสติมากขึ้น รู้จักตัดกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์ คนในวัยเกษียณนี้จะอยู่ในภาวะขาลง การรู้จักปรับจิตใจให้ยอมรับกับสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ควรปรับการใช้ชีวิตให้เรียบง่าย ไม่ต้องเหมือนเดิม เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองจะได้อยู่ได้แบบสบายๆ ไปอีกนาน
บริหารเงินในวัยหลังเกษียณ คนที่เตรียมตัวมาดี มีเงินออมเพียงพอ บริหารเงินเป็น อาจจะใช้จ่ายเงินที่ได้รับนี้เพื่อเป็นรางวัลแก่ชีวิตของตัวเองบ้าง ก็ไม่ได้ผิดกติกาใดๆ แต่สำหรับบางคนที่ไม่มีเงินออมหรือมีแต่ไม่มาก ก็ควรหาความรู้เพื่อวางแผนทางการเงินให้ดี เปลี่ยนวิถีชีวิตให้อยู่แบบพอเพียง ใช้จ่ายเฉพาะเรื่องที่สำคัญๆ และจำเป็น ดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากๆ ในขณะเดียวกัน หากคุณยังมีศักยภาพที่จะทำอะไรๆ ได้อีกหลายอย่างและมีความสุขกับสิ่งนั้นก็ควรลงมือทำอย่างเร็ว แต่อย่าคิดไปสร้างความร่ำรวยหรือมีสิ่งกดดันในเป้าหมายมากนัก แต่ให้เน้นความมั่นคงและความสบายใจของตัวเองดีที่สุด
ก็เป็นอีกสาระความรู้ในเรื่องของการสร้างความสุขให้แก่ตัวเอง ลองเอาไปปฏิบัติใช้กันดู เทคนิคนี้ไม่ได้เจาะจงว่าสามารถทำได้เฉพาะคนสูงวัย คนในวัยเกษียณ แต่คนที่กำลังหมดหวังและหดหู่ ก็สามารถที่จะนำไปปรับใช้ได้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองและคนรอบข้างก็ได้
อ้างอิงที่มา Last but not least – Gourmet & Cuisine : November 2013