คำถามแรกที่เกิดขึ้นกับหลายคนว่า ทำไมต้องออมก่อนใช้ ซึ่งคำตอบนั้นก็จะได้ประมาณว่า เพื่อการออม เพราะเมื่อเรามีเงินอยู่ในกระเป๋าก็มักอดใจไม่ไหว เห็นอะไรก็น่าซื้อไปหมดครับ กว่าจะรู้ตัวอีกที เงินก็หมดทั้งๆ ที่ยังไม่สิ้นเดือนเลย บางทีเผลอไปยืมเงินเพื่อนบ้าง ผ่อน 0% บ้าง เพื่อเอาไปซื้อของที่เราอยากได้ ไปๆ มาๆ ก็ไม่มีเงินเหลือเก็บ ต้องยอมรับว่าโดยธรรมชาติเราเป็นแบบนี้ ถ้าเราไม่เก็บเงินไว้เสียบ้างในตอนนี้ เมื่อเราแก่แล้วจะลำบาก
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน หลายคนอาจมีเงินเดือนน้อยมาก และก็ใช้เงินเก่งมากจึงมีอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง ในช่วง 2-3 ปีแรกที่เริ่มคนส่วนใหญ่มักไม่มีเงินออมเลย จวบจนได้ลองเปลี่ยนแนวความคิดตัวเองเมื่อนึกถึงอนาคตให้สามารถ ออมก่อนใช้ จึงเริ่มมีเงินออมบ้างในช่วงนั้น
แต่สำหรับคนวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มหัดออมเงิน อาจยังไม่ทันคิดว่า จะเริ่มออมอย่างไร หรือไปไม่เป็นว่าจะฝึกตัวเองให้มีวินัยในการออมได้อย่างไร ปกติเวลาเราไปธนาคาร เราจะรู้จักเฉพาะการฝากเงินออมทรัพย์และฝากประจำ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียไปคนละแบบ หลายคนคิดแค่ว่า ฝากออมทรัพย์ถอนแล้วไม่เสียค่าธรรมเนียมไม่โดนหักมาก แต่ฝากประจำต้องฝากทุกเดือนและถอนออกมาลำบากเท่านั้นเสียนั่นนี่วุ่นวาย …
ในความเป็นจริงแล้ว บัญชีฝากออมทรัพย์นั้น จะมีสภาพคล่องที่สูง สามารถถอนเป็นเงินสดได้ตลอดเวลาตามที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน แต่ดอกเบี้ยในปัจจุบันนี้ต่ำมาก และจะต่ำไปอีกเกือบชั่วชีวิตคนเรา แม้ว่าบางแห่งจะประกาศว่าให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.75% ต่อปี แต่พอคิดไปคิดมาถูกหักค่าธรรมเนียมนั่นนี่ หักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 15% เผลอๆ เงินถึงมือเราเพียงแค่ 0.6375% เท่านั้น ยิ่งเราถอนต่างธนาคาร ถอนต่างสาขา ยิ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก กลายเป็นว่าไม่ได้อะไรเลยนอกจากฝากรอวันถอนออกมาใช้ ธนาคารบางแห่ง เก็บค่ารักษาบัญชีอีกกรณีมียอดเงินฝากต่ำกว่าเกณฑ์ติดต่อกันนาน
ทีนี้มาถึงบัญชีฝากประจำ บัญชีนี้จะมีสภาพคล่องที่ต่ำ ถ้าถอนก่อนกำหนดก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุเอาไว้เลย แต่ถ้าครบเงื่อนไข ดอกเบี้ยจะดีกว่าฝากออมทรัพย์อยู่มาก แต่โดยรวมก็ยังถือว่าต่ำอยู่ดี เพราะปัจจุบัน ดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปี อยู่ที่ 2.50% ต่อปี หักภาษี ณ ที่จ่ายไป 15% แล้วเหลือถึงมือแค่ 2.125% และมีข้อจำกัดอีกข้อที่ว่า ถ้ามีดอกเบี้ยเกินกำหนดเท่านั้นเท่านี้ จะต้องเสียภาษีอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะ สรุป ดอกเบี้ยก็มีเพดาน ไม่ใช่ว่าจะได้เป็นเท่านั้นเท่านี้ เพราะส่วนต่างก็ต้องจ่ายภาษี
แต่ยังมี เครื่องมือออมเงิน สำหรับมือใหม่ หัดออมมาแนะนำ 2 แบบ ที่จะทำให้ผู้ออมมีวินัยในการออมมากยิ่งขึ้น และได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากข้างต้นและไม่เสียภาษี อย่างแรกคือ
เงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน หรือรู้จักกันในชื่อ ฝากประจำ 24 เดือน เป็นทางเลือกของคนหนุ่มสาวที่เพิ่งหัดออมใหม่ๆ เพราะบัญชีแบบนี้จะทำให้คนเริ่มทำงานได้ฝึกวินัยไปด้วย โดยการฝากในยอดที่เท่าๆ กันทุกเดือน เป็นเวลา 24 เดือน โดยเริ่มต้นที่เดือนละ 1,000 บาท ไปจนถึงไม่เกิน 25,000 บาท ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากประจำ 12 เดือน และได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถ้าหากทำตามเงื่อนไขฝากครบทุกเดือนไม่ขาดไม่เกินไม่ถอนออกก่อนกำหนด ก็จะได้กำไรส่วนต่างฟรีๆ ไปอีก 1 เดือนพร้อมดอกเบี้ยอีกเล็กน้อย (ถ้าใครเก่งก็คำนวณกันดูเองว่าจะได้เท่าไหร่) ซึ่งถ้าสรุปแล้วก็จะได้ดอกเบี้ยที่ 2.80 – 3.20% ต่อปีโดยได้รับเงินไปเต็มๆ
หากพูดถึงความเสี่ยงก็ยังคงถือว่าเงินฝากประเภทนี้มีความเสี่ยงต่ำ เพราะฝากไม่เกิน 50 ล้านบาท ยังจะได้ความคุ้มครองจากรัฐบาล มั่นใจได้ว่าเงินต้นต้องได้คืนครบถ้วนแน่นอน ส่วนธนาคารไหนจะให้ดอกเบี้ยมากน้อยก็ต้องสอบถามกันเอาเอง แต่เชื่อแน่ว่ามีทุกธนาคาร เพียงแต่ให้ผลตอบแทนไม่เท่ากันเท่านั้นเอง
เครื่องมืออย่างที่สองคือ กองทุนรวมตลาดเงิน มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก เป็นเครื่องมือในการออมเงินอีกแบบที่อยากจะแนะนำให้รู้จัก โดยกองทุนแบบนี้จะนำเงินของเราไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนใหญ่จะเป็นตราสารภาครัฐ จึงมีความเสี่ยงที่ต่ำ ซื้อง่าย ขายง่าย ได้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากแน่นอน เรียกกันสั้นๆ ว่ากองทุนรวม ที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นๆ ประเภท 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ว่ากันไปตามแต่ความชอบ
ข้อดีของการลงทุนประเภทนี้คือ เป็นที่พักเงินชั่วคราว เช่น ในอนาคต 6 เดือน หรือในปีหน้า อาจจำเป็นต้องใช้เงินในจำนวนหลักแสน ไว้ใช้จ่ายธุระส่วนตัว ก็หาที่พักเงินในรูปแบบของกองทุนรวมพวกนี้ ก็จะได้กำไรในระยะเวลาสั้นๆ ดีกว่าทิ้งเงินเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่อาจจะไม่ได้ดอกเบี้ยเลยซักบาท ข้อดีอีกประการคือ เป็นบัญชีสำรองเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งสามารถกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนได้เมื่อฝากครบกำหนดแล้ว แต่การลงทุนในกองทุนรวม คุณอาจลงทุนเป็นเงินก้อน และเลือกกองทุนที่ระบุว่าคุ้มครองเงินต้น หรือรับประกันความเสี่ยงของเงินต้น เพราะถึงอย่างไร หากไม่ได้กำไร ก็จะไม่ขาดทุนแน่นอน
ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับนักออมหน้าใหม่ที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินให้เหมาะกับสภาพความชอบและสภาพคล่องของตัวคุณเองได้ แต่อย่าลืมว่า ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ การทำอะไรให้ได้ดี อย่างน้อยก็ต้องศึกษาข้อมูลไว้บ้าง ยิ่งรู้มากยิ่งมีโอกาสพลาดน้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุน
อ้างอิง เครื่องมือออมเงินสำหรับมือใหม่ จากวารสารประกันสังคม หน้า 12 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6 เดือนมิถุนายน 56