เพื่อนผมเค้าเข้าโรงพยาบาลไปเมื่อเดือนที่แล้ว ดูเหมือนเค้าจะมีอาการแปลกๆ หลายปีก่อนรุ่นพี่ที่ทำงานเก่า ก็มีอาการคล้ายๆ กันนั่นคือ รู้สึกวิงเวียนทั้งนั่งและนอน หรือทุกอริยาบท เวลาจะขยับหรือทำอะไรแล้วรู้สึกว่าโลกหมุนได้ทั้งใบทั้งที่ยังนอนอยู่นิ่งๆ หรือเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังเคลื่อนไหวหมุนไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทั้งที่จริงแล้วคุณกำลังยืน นั่ง หรือนอนอยู่กับที่แท้ๆ และไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรเลย
ยิ่งหากว่าจะขยับ เพียงแค่ยกมือขึ้นมองก็จะเริ่มรู้สึกว่า ทุกอย่างที่กำลังทำมีการเคลื่อนไหวมากกว่าที่เราขยับจริงๆ จนเกิดอาการคลื่นเหียนวิงเวียนศีรษะ อยากจะอ๊วกเสียให้ได้ นี่เองที่เป็นสัญญาณเตือนหรือบ่งบอกให้รู้ว่า ระบบการทรงตัวของร่างกายในหูชั้นใน ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยรักษาการทรงตัวของร่างกาย รักษาการมองเห็นให้คงที่ และช่วยควบคุมการเคลื่อนไหว เริ่มมีปัญหาแล้ว หรือในทางวิชาการเรียกว่าเป็น โรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ หรือ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
อาการหลักๆ ของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
- อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นอาการที่พบได้บ่อย ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ลักษณะอาการคือจะเกิดขึ้นในทันทีทันใด อาจจะเป็นอยู่นานกว่า 20 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง อาการดังกล่าวมักเป็นรุนแรง แต่ไม่ทำให้หมดสติหรือเป็นอัมพาต เมื่อหายเวียนศีรษะ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนเป็นปกติ
- หูอื้อ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ถ้าเป็นระยะแรกๆ การสูญเสียการได้ยินจะเป็นแค่ชั่วคราว หลังจากหายเวียนศีรษะแล้ว การได้ยินจะกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะบ่อยๆ หรือเป็นมานาน อาการหูอื้อมักจะเป็นถาวร บางครั้งอาจถึงขั้นหูหนวกไปเลยก็เป็นได้
- เสียงดังในหู ผู้ป่วยจะมีเสียงดังในหูข้างที่ผิดปกติร่วมด้วย เสียงดังในหูอาจเป็นตลอดเวลาหรือเป็นเฉพาะขณะที่เวียนศีรษะก็ได้
- อาการตึงๆ ภายในหูคล้ายกับมีแรงดัน เกิดจากแรงดันของน้ำในช่องหูชั้นในที่ผิดปกติ
การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
ผู้ป่วยที่เป็นโรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ ส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในกลุ่มที่ทราบสาเหตุจะเรียกว่า กลุ่มอาการมีเนีย ได้แก่ โรคซิฟิลิส หูน้ำหนวก เพราะฉะนั้นโรคนี้จึงรักษาไม่หายขาด เพียงแต่สามารถรักษาอาการเวียนศีรษะให้หายเป็นปกติได้เท่านั้น อาการผิดปกติอาจเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ระยะแรกมักเป็นข้างเดียว แต่เมื่อเป็นนานเข้า โอกาสที่หูข้างที่สองจะเป็นร่วมด้วยก็มีมากขึ้น ซึ่งการรักษาก็จะทำได้โดยการควบคุมอาหาร โดยจำกัดเกลือ และลดอาหารที่มีรสเค็ม แนะนำให้เติมเกลือลงในอาหารวันละไม่เกิน 2 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา ในแต่ละวัน
การป้องกันโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
- – ลดอาการเครียด ควบคุมอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส
- – ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- – พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะเวลานอนหลับ อาจมีเสียงรบกวนในหูมาก จนทำให้นอนไม่หลับได้ ข้อแนะนำคือ เปิดเพลงเบาๆ ขณะนอน เพื่อกลบเสียงที่รบกวนในหู
- – หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งบุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้อาการแย่ลง
- – การบริหารระบบการทรงตัว เป็นการบริหารศีรษะและการทรงตัว ทำให้สมองสามารถปรับตัวได้รวดเร็วขึ้น
- – พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น สถานที่ที่มีเสียงดัง แสงแดดจ้า หรืออากาศร้อนอบอ้าว
- – จัดสถานที่ ทั้งที่บ้านและที่ทำงานให้ปลอดภัย ทางเดินที่ต้องเดินเป็นประจำ ควรปราศจากของมีคมหรือตกแตกง่าย
- – หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างที่อาจทำให้เกิดอันตรายหากเกิดอาการขึ้นมา เช่น การขับรถ
การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าว เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยลดภาวะอาการของโรคลงได้
ขอบคุณที่มา health.kapook.com / panyathai.or.th