มาตรการนี้เริ่ม 1 เมษายน 2555 นี้ ประชาชนทั่วประเทศ 63 ล้านคนได้เฮ มาตรการฉุกเฉิน รักษาเป็นมาตรฐานเดียว ปฏิวัติระบบการรักษาพยาบาลใหม่ โดยโรงพยาบาลเอกชนกว่า 353 แห่งทั่วประเทศยินดีเข้าร่วมโครงการป่วยฉุกเฉินทันที โดยมีเงื่อนไขเล็กน้อย โดยหลังจากที่นายกฯ เดินหน้าโครงการผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว เริ่มวันที่ 1 เมษายน 2555 นี้

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 255 นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง นโยบายรัฐบาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การอนามัยโลก โดยกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่จัดเก็บค่ารักษาครั้งละ 30 บาท เพื่อแสดงว่าประชาชนซื้อบริการการรักษาพยาบาล ไม่ใช่รับการสงเคราะห์ และทำให้มุมมองต่อการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนไป ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการรักษาอย่างสมศักดิ์ศรี พร้อมเผยว่า ที่ผ่านมา ระบบบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น และส่งผลให้จำนวนครัวเรือนยากจนลดลงถึง 78,000 ครัวเรือนต่อปี

และวันนี้ 28 มีนาคม 2555 ทางโรงพยาบาลทั่วประเทศ 1,262 แห่ง พร้อมเข้าร่วมโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาล แบ่งเป็นสังกัดรัฐและมหาวิทยาลัย รวม 909 แห่งและโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้โรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมียมส่วนใหญ่ยินดีเข้าร่วม อาทิ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโลโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนได้นัดประชุมในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปเสนอรัฐบาล ซึ่ง นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มี.ค. 2555 ทางสมาคมซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มโรงพยาบาลใหญ่ 206 แห่ง จะร่วมลงนามเข้าร่วมโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล

นพ.บุญ วนาสิน ประธานที่ปรึกษาโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่ากลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเห็นด้วยกับนิยามฉุกเฉิน แต่เบื้องต้นมีเงื่อนไขว่าโรงพยาบาลจะรับรักษาผู้ป่วยระบบประกันสังคมแค่ 72 ชั่วโมง (3วัน) ค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1.05 หมื่นบาท/คน/ครั้ง เมื่ออาการปลอดภัยให้ส่งกลับต้นสังกัด นอกจากนี้กรณีผู้ป่วยบัตรทองยังไม่มีข้อสรุปว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาล เอกชนสำหรับโรงพยาบาลธนบุรีจะจำกัดค่าใช้จ่ายไว้ไม่เกิน 5% ต่อปีของรายได้ทั้งหมด ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าล่าสุดได้กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลเกือบ 200 รายการ ให้เป็นราคากลางในการเบิกจ่ายค่าบริการให้สถานพยาบาลส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.ได้ทุก 15 วัน และพร้อมจะจ่ายเงินคืนให้ภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ จะเข้าประชุมกับกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในวันที่ 28 มี.ค.เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางบริการตรงกัน และป้องกันเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากผู้ป่วย เพราะโครงการนี้ต้องการรับผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคน โดยไม่สอบถามสิทธิ “ผม คิดว่าโรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมแล้ว เพราะได้รับการชี้แจงมาพอสมควร ส่วนระบบการจ่าย สปสช.มีหน้าที่จ่าย 1-2 เดือนแรก จะถือหลักว่าเมื่อโรงพยาบาลเอกชนรักษาและบอกว่านี่คือภาวะฉุกเฉิน เราก็จะจ่ายเงินเราเอาผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง” เลขาธิการ สปสช.ระบุ

สิทธิใหม่ การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้ทุกโรงพยาบาล

ทั้ง นี้ ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ

สิทธิเดิมสำหรับคนไข้ฉุกเฉิน

  • สปสช. รักษานอกเครือข่าย จ่ายประมาณ 1.7 หมื่นบาทต่อครั้ง
  • สปส. รักษานอกโรงพยาบาลที่ประกันตน ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และโรงพยาบาลดูแลไม่เกิน 3 วัน
  • ข้าราชการ รักษานอกเครือข่าย จ่ายไม่เกิน 4 พันบาท

สิทธิใหม่คนไข้ฉุกเฉิน คือรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน 1,262 แห่ง ทั่วประเทศ จ่ายตามระดับความรุนแรงของโรค โดยโรงพยาบาลไม่มีสิทธิสอบถามสิทธิหรือบ่ายเบี่ยง แต่จากข้อมูลด้านบน ดูเหมือนโรงพยาบาลเอกชนจะมีเงื่อนไขว่าทางโรงพยาลจะรับรักษาผู้ป่วยระบบประกันสังคมแค่ 3 วัน และต้องมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อครั้งไม่เกิน หมื่นบาทนิดๆ เมื่ออาการปลอดภัยจะถูกส่งกลับไปยังต้นสังกัด ซึ่งก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของสิทธิ์การรักษาเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังดีที่ยังรับไว้ก่อน ดีกว่าสอบถามสิทธิ์โน่นนี่นั่น กว่าจะได้รับการรักษาก็โยนกันไปโยนกันมา ผู้ป่วยตายก่อนพอดี

ขั้นตอนการใช้สิทธิ์ฉุกเฉินมาตรฐานเดียว

ผู้ป่วยประกันสังคม ราว 9.9 ล้านคน ผู้ป่วยข้าราชการ 4.9 ล้านคน และผู้ป่วยบัตรทอง 47.7 ล้านคน หากประสบปัญหาป่วยฉุกเฉินหมออยู่ไกลเกิน และอยู่ไกลจากสถานพยาบาลในประกันหรือที่ระบุในสิทธิ์ ก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้เคียงได้ทันที โดยที่ สพฉ.ทำหน้าที่ขนย้ายสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลรัฐ 909 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชนอีก 353 แห่ง ทั่วประเทศพร้อมเข้าร่วมโครงการ เสร็จแล้วเมื่ออาการทุเลา หรือดีขึ้นก็จะถูกส่งตัวกลับไปยังต้นสังกัดที่ผู้ปวยมีสิทธิ์การรักษาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม บัตรทอง หรือข้าราชการที่มีประกันสุขภาพไว้ ส่วนโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่ทำการรักษา ก็จะส่งข้อมูลไปยัง สปสช. เพื่อเบิกจ่ายค่ารักษา โดย สปสช. เป็นศูนย์กลางในการเบิกจ่ายทุกระบบ

เบอรโทร.ป่วยฉุกเฉิน

  • 1330 สปสช.
  • 1506 ประกันสังคม
  • 02-127-7000 กรมบัญชีกลาง
  • 1669 ศูนย์นเรนทร
  • 2646 ศูนย์เอราวัณ
  • 1554 วชิรพยาบาล

อ้างอิง โพสต์ทูเดย์ 28 มีนาคม 55 สิทธิใหม่คนไข้เฮปฏิวัติระบบรักษาพยาบาล353รพ.เอกชนร่วมโครงการป่วยฉุกเฉินเปิดตัว