ถ้าหากว่าจะเปรียบเทียบแค่ทฤษฏีที่ว่า การประกันราคาข้าว ดีกว่า การรับจำนำข้าว ข้อนี้หากจะบอกว่าดีหรือไม่ ผู้ที่พ่นคำพูดออกมา ควรเข้าไปอยู่ในเหตุการและรับรู้ถึงความเป็นไปได้ของ ชาวนา ก่อน ถึงจะพ่นออกมาว่า ดีกว่า หรือไม่ดีกว่า อย่างไร เพราะจะมาพูดตามทฤษฎีหรือตามหลักการ มันก็พูดได้สิ แต่ในทางปฏิบัติ มันใช่ หรือไม่ใช่ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง

โครงการประกันราคาข้าว เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เพื่อแก้ปัญหาการคอรัปชันจากการรับจำนำจากรัฐบาลชุดก่อน เพื่อเป็นการประกันว่าเกษตรกรจะขายข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท และอาจจะปรับขึ้นในปีต่อไปเป็นการประกันว่าชาวนาจะขายข้าว ได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท (และจะปรับขึ้น ในปีต่อไป) แม้ว่าราคาข้าวในท้องตลาดจะเป็นเท่าไรทางรัฐจะชดเชยส่วนที่ขาดหายไปให้ จำนวนเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่า ราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาดไม่มีการบิดเบือน ปัญหาทุจริตคอรัปชันจากเจ้าหน้าที่รัฐมีน้อยมากเพราะเงินสู่มือชาวนาโดยตรงผ่านธนาคาร ธ.ก.ส. แม้เกิดภัยพิบัติจากน้าท่วม,ศัตรูพืช ระบาดชาวนาก็จะยังได้ส่วนต่างแม้ไม่มีผลผลิต แต่ถามว่า ผู้ที่ไปขึ้นทะเบียนในโครงการประกันราคา คือผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน หาใช่ผู้ทำกินในที่ดินนั้นไม่ สรุป เงินถึงมือใครกันแน่ ชาวนา หรือเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นข้อเสียของโครงการประกันราคาข้าว

ข้อเสียของโครงการประกันราคาข้าว รัฐต้องจ่ายเงินไปสู่เกษตรโดยตรง ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเพื่อการนี้เป็นจำนวนมากโดยไม่ได้อะไรกลับมา มีการแจ้งการทำนาที่เป็นเท็จ เช่น ทำนา 10 ไร่บอกว่า 20 ไร่ แม้จะมีประชาคมแต่บ้างครั้งต่างก็เกรงใจกันไม่กล้าคัดค้านหรืออาจเนื่องจากต่างคนต่างแจ้งเท็จด้วยกัน เรื่องนี้มีบ่นกันมาก ทำให้ราคาข้าวไม่ขึ้นเกินหนึ่งหมื่นบาทเพราะพ่อค้ารับซื้อรู้ว่ารัฐจ่ายส่วนต่างให้เกษตรแล้วเหมือนรัฐกดราคาข้าวไม่ให้เกินหนึ่งหมื่นบาท การจ่ายเงินส่วนต่างจะจ่ายให้แค่ 25 ตัน ถ้าใครได้เกินกว่า 25 ตัน ไม่ได้รับส่วนต่าง คิดให้ผลผลิตข้าวที่ 500 กก. ต่อไร่ ถ้าใครทำได้มากกว่านั้นก็ไม่ได้

โครงการรับจำนำข้าว โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล และมาหยุดโครงการดังกล่าวในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ามีช่องโหวในเรื่องของการคอรัปชัน ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ก้าวเข้ามาครั้งนี้ จึงนำนโยบายดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

จากการประกาศจำนำราคาข้าวที่ 15,000 บาท ชาวนาจะได้รับเงิน 15,000 เลย (กรณีข้าวมีความชื้นที่ 15 เปอร์เซนต์) ซึ่งเป็นเงินสด ชาวนามีข้าวเท่าไรก็ขายได้ตามจำนวนผลผลิตที่ได้ เช่น หากทำนา มีข้าว 10 ตัน ก็ได้ทั้ง 10 ตัน เป็นเงิน 150,000 บาท ชาวนาจะได้รับเป็นเงินสดทันทีเมื่อขายข้าว จะทำให้ราคาข้าวในท้องตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากถ้าพ่อค้าไม่รับซื้อในราคาสูงก็ไม่มีข้าวขายเพราะรัฐจะซื้อเองหมด รัฐบาลสามารถควบคุมราคาซื้อ-ขาย ข้าวได้ ในการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ หรือง่ายๆ คือรัฐทำหน้าที่เป็นคนกลางในการบริหารจัดการ โดยรับซื้อข้าวมามาในราคาที่รัฐกำหนด แล้วไปขายต่ออีกทอด กำไรหรือขาดทุนรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ

ข้อเสียของโครงการรับจำนำข้าว จากอดีตที่ผ่านมามีการคอรัปชันสูง ทำให้รัฐต้องขาดทุนปีละหลายหมื่นล้าน รัฐอาจต้องสร้างโกดังไว้เก็บข้าวเองจำนวนมาก เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดทำให้รัฐต้องใช้เงินจำนวนมากไปซื้อข้าว ซึ่งรัฐไม่น่าจะมีเงินมากมาซื้อข้าวชาวนาได้ทั้งหมดในกรณีที่พ่อค้าไม่รับซื้อข้าวแข่ง รัฐต้องเสียเงินจำนวนไม่น้อยในการสต๊อกข้าวและรักษาคุณภาพข้าวจำนวนมากถ้าขายข้าวไม่ได้ อาจมีข้าวจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์ขาย

rice organization การประกันราคาข้าว การรับจำนำราคาข้าว ข้อดี ข้อเสีย

จากข้อดีข้อเสียนั้นจะเห็นได้ว่ามีแตกต่างกันออกไป ไม่มีอะไรดีหมด และไม่มีอะไรเสียหมด

แต่จุดประสงค์หลักของโครงการ ว่าจะดีหรือไม่ดี ต้องดูที่เม็ดเงินที่จะถูกส่งไปยัง เกษตรกรตัวจริง ทำได้จริงหรือไม่ การประกันราคา เงินส่วนใหญ่ถึงมือเจ้าของที่ดิน แต่เกษตรกรตัวจริงยังยากจน แถมเงินที่รัฐบอกว่าจะชดเชยให้ก็ได้ไม่ครบ ในเวลาเกิดวิกฤตรัฐก็ช่วยได้ไม่เต็มที่ เรียกว่า ข้าวจะถูกจะแพง เกษตรกรชาวนาก็ยังได้ไม่คุ้มเสีย ส่วนการรับจำนำข้าว ชาวนาถือข้าวอยู่ในมือ เค้ามีสิทธิ์ที่จะเอาไปขายใครก็ได้ ที่ให้ราคาดี การที่รัฐเข้ามามีบทบาทรับจำนำก็เพื่อรับเป็นหน้าที่คนกลางซื้อข้าวจากชาวนาจริงๆ ไม่ใช้ซื้อข้าวจากเจ้าของที่ดิน เงินที่จ่ายไปถึงมือชาวนาเกษตรผู้ปลูกข้าวจริงๆ แม้ว่ารัฐอาจต้องเสียเงินจำนวนมาก แต่รัฐก็มีหน้าที่บริหารจัดการในส่วนนั้น คงไม่มีใครบริหารจัดการให้ขาดทุนโดยรับซื้อข้าวแพงแล้วขายถูกๆ ไปหรอก จริงไหมครับ