ไม่ว่าอะไรก็ตาม คุณจะต้องการออมหรือลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าหรือเงินปันผล กองทุนรวมที่มีหลากหลายในปัจจุบันเป็นทางเลือกที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ แต่ก่อนที่จะนำเงินอันแสนมีค่าไปให้ผู้จัดการกองทุนที่เราไว้ใจบริหารจัดการลงทุน นักลงทุนย่อมต้องผ่านการไตร่ตรองโดยวิธีต่างๆ ไม่มากน้อย อย่างไรก็ตามการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจกองทุนรวมอาจส่งผลให้ คุณตามหลังผู้อื่นอยู่ก้าวหนึ่ง (จนถึงหลายช่วงตัว) การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิ่งที่รู้เดิมๆ ก็จะช่วยให้คุณซื้อกองทุนได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น และนี่คือเคล็ดลับพื้นฐานที่ไม่ควรลืมเมื่อคุณกำลังตัดสินใจซื้อกองทุน
ที่มาของ return แม้อัตราผลตอบแทนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญของธุรกิจกองทุนแต่ก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง นักลงทุนควรสืบหาว่าตัวเลขที่ปรากฏนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เช่น การเทียบอัตราผลตอบแทนกองทุนทุกๆ เดือนกับดัชนี หาเดือนที่ผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษแล้ววิเคราะห์ว่าเดือนที่สามารถชนะตลาดนั้นมาจากปัจจัยใดบ้าง และผู้จัดการกองทุนน่าจะสามารถทำซ้ำได้อีกในอนาคตหรือไม่ กองทุนที่ผลตอบแทนเท่าดัชนีมา 11 เดือน แล้วมีเดือนที่ 12 กระโดดไปชนะตลาด 7% ย่อมมีผลตอบแทนการลงทุนต่อปีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่หากคุณขายหน่วยลงทุนไปก่อนที่กองทุนจะชนะตลาด คุณก็จะไม่ได้เห็นผลตอบแทนดังกล่าว กรณีเช่นนี้กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอต่อเดือนและผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี เท่ากับกองทุนข้างต้นย่อมน่าดึงดูดมากกว่าสำหรับนักลงทุนทั่วไป
เทียบมวยให้ถูกคู่ กองทุนรวมมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีคุณสมบัติเฉพาะตัว และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป และแต่ละกองทุนก็มีความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่เท่ากัน เมื่อทราบดังนี้ การเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนที่คุณสมบัติแตกต่างกันย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก ดังนั้นการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนควรจะเป็นการเปรียบเทียบ ระหว่างกองทุนที่มีนโยบายและคุณสมบัติคล้ายกันที่สุด
ซื้อของดีและถูก กองทุนแต่ละกองมีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยเลย ทั้งค่าบริหารกองทุน ค่าผู้ดูแลผลประโยชน์ มาร์เกตติ้ง หนังสือพิมพ์ และอีกมากมาย โดยทั่วไป กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมักจะมีค่าใช้จ่ายมากตามไปด้วย ข้อมูล ?อัตราส่วนค่าใช้จ่าย? หรือเปอร์เซ็นของสินทรัพย์ที่จะต้องหักไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถบอกได้ว่ารายได้สุทธิที่นักลงทุนจะได้รับจะถูกลดตัดตอนไปมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับกลับคืนมากแค่ไหน
หลีกเลี่ยงกองทุน Turnover สูง กองทุนที่มีอัตราหมุนเวียนหลักทรัพย์สูง หรือมีการซื้อขายหลักทรัพย์บ่อยครั้งจะก่อให้เกิดค่าจ่ายทางอ้อมต่อเงินของนักลงทุนคือ ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหรือคอมมิชชั่นนั่นเอง นอกจากนั้นนักลงทุนบาง ส่วนอาจมีมุมมองว่าผู้จัดการกองทุนที่มีอัตราหมุนเวียนหลักทรัพย์สูงไม่มีความมั่นใจในการลงทุน จึงไม่มีเหตุผลที่ดีพอในการถือสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนไป แต่เรื่องนี้ก็นานาจิตตังเพราะกองทุนที่เทรดบ่อยๆ กำไรสูงๆ ก็มีให้เห็นเรื่อยไป
ทำความรู้จักผู้บริหารกองทุน นักลงทุนสามารถวิเคราะห์แนวทางการลงทุนของผู้จัดการกองทุนได้หลายทาง เช่น การคำนวณทางคณิตศาสตร์และสถิติพวก Sharp ratio, Alpha, R square ฯลฯ เพื่อหากลยุทธ์ของผู้จัดการกองทุนว่ามีประสิทธิภาพ เข้ากับสไตล์ของคุณหรือไม่ หากคุณไม่ถูกกับตัวเลข คุณก็สามารถใช้การเปรียบเทียบเชิงคุณภาพ เช่นเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนกับกรอบดัชนีที่หลากหลาย เช่น ประเภทของอุตสาหกรรม ขนาดของหลักทรัพย์ ขอบเขตภูมิภาค แล้วคุณอาจจะพอเห็นว่าธรรมชาติของผู้จัดการกองทุนนั้นๆ มีแนวโน้มตามตลาดใด ชอบตัวแปรปัจจัยใดเป็นพิเศษ และแพ้ทางสถานการณ์แบบใด ซึ่งปัจจุบันนี้ก้มีหน่วยงานกลางหลายแห่ง มีบริการจัดอันดับกองทุนตามวิธีของตนเผยแพร่กับนักลงทุนมากขึ้น
Active vs Passive fund กองทุนแบบ passive คือกองทุนที่ไม่ได้ถูกบริหารอยู่ตลอดเวลา การบริหารกองทุนประเภทนี้ไม่ต้องการหาช่องทางในการชนะตลาดเหมือนกองทุนแบบ active แต่จะพยายามเลียนแบบผลตอบแทนและความเสี่ยงของดัชนีที่เลือกไว้ (เช่น SET50) เพราะว่ากองทุนประเภทนี้ไม่ต้องบริหารจัดการและการตัดสินใจอะไรมากมาย ค่าใช้จ่ายการจัดการกองทุนจึงน้อย และเป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงในประเทศที่ธุรกิจกองทุนรวมเกิดขึ้นมานานแล้ว ตลาดหุ้นพัฒนาไปไกล ข้อมูลข่าวสารระหว่างนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันไม่มีความแตกต่างกันมากนัก มีกองทุนแบบ active เพียงไม่กี่กองเท่านั้นที่ผู้จัดการกองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดอย่างสม่ำเสมอ แต่สำหรับประเทศไทยที่กองทุนแบบ passive เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน และยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก จึงน่าติดตามอย่างมากว่ากองทุน passive ในประเทศไทยจะเป็นเหมือนประเทศอื่นๆ หรือไม่
Management team สไตล์การบริหารของท่านผู้บริหารและนโยบายของบริษัทสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างที่คุณคาดไม่ถึง อย่างแรกคือบริษัทแม่ที่แข็งแกร่ง มีทีมผู้บริหารมากประสบการณ์คร่ำหวอดในวงการ ย่อมสามารถดึงตัวผู้จัดการกองทุนเก่งๆประสบการณ์สูงมาทำงานด้วยได้ อย่างที่สองคือนโยบายกองทุน มีนักปราชญ์เคยพูดไว้ว่า ?คนเก่งจะเก่งได้ก็ต่อเมื่อสามารถเก่งได้อย่างเต็มที่? …ก็เช่นเดียวกับธุรกิจกองทุน ถ้าผู้จัดการกองทุนถูกจำกัดกรอบความสร้างสรรค์ด้วยข้อห้ามเยอะแยะ โดนประเมินผลการทำงานบ่อยจนเกินสมควร ถูกผู้บริหารแทรกแซงการทำงาน เขาเหล่านั้นก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ เป็นใครก็ไม่ไหว ข้อมูลพวกนี้หาไม่ได้หรอก แต่สามารถดูง่ายๆ ที่อัตราการหมุนเวียนผู้จัดการกองทุนของ บลจ. ถ้ามีเข้าออกบ่อยๆ ก็น่าคิด
คัดทิ้งอาจเป็นการเลือกที่ดีที่สุด สมัยนี้ บลจ.ต่างขยันเปิดกองทุนใหม่ๆ มาแข่งกัน บางกองทุนก็แค่เปลี่ยนคุณสมบัติจากกองอื่นๆ เล็กน้อยเพื่อให้ตั้งชื่อใหม่ได้ ทำให้การเลือกลงทุนยากขึ้นทุกวันๆ เพราะมีตัวเลือกมากเหลือเกิน ถ้าการเลือกกองทุนจากเทคนิคร้อยแปดพัดเก้านั้นทำให้คุณปวดหัว การตัดตัวเลือกทิ้งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ แทนที่นักลงทุนจะวิเคราะห์คัดเลือกกองทุนทีละกองมาใส่พอร์ตการลงทุนของคุณ คุณสามารถสร้างกำแพงซึ่งกำจัดกองทุนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ของคุณออกไป และลงทุนในกองทุนที่ผ่านเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น คุณชอบกองทุนที่ได้ผลตอบแทน x% มีเงินปันผลมากกว่า y% และไม่เคยให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนี SET50 ใน 2 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น กองทุนที่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ก็ไม่น่าจะเหลือมาก ถ้าคุณอาจไม่ลงทุนในตัวที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ต้องมาพิจารณากันอีกที แต่ก็น่าจะทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นเยอะ
Too big not too good เมื่อผลประกอบการดี ขนาดของกองทุนจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากการเพิ่มค่าของสินทรัพย์ในกองทุน และเงินที่หลั่งไหลเข้ามาจากนักลงทุน การเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ถ้าเป็นกองทุนดัชนีหรือตราสารหนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะค่าใช้จ่ายจะถูกกระจายไปยังสินทรัพย์ที่มากขึ้น และอำนาจต่อรองของตลาดตราสารหนี้มักขึ้นกับปริมาณที่ซื้อ จึงลดต้นทุนต่อหน่วยลงทุน อย่างไรก็ตามความใหญ่โตอาจส่งผลเสียต่อกองทุนแบบอื่นๆ เช่นกองทุนหุ้นได้ ประการแรกคือ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่ไร้สภาพคล่องเพียงไม่กี่ตัว กองทุนที่มีขนาดใหญ่จะทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์ที่กองทุนมีนั้นยากขึ้น เมื่อตลาดมีสภาพคล่องต่ำ ประการต่อมา กลยุทธการลงทุนอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง วิธีบริหารกองทุนที่เคยใช้ได้ดีในอดีตอาจจะไม่ได้ผลเมื่อขนาดกองทุนนั้น เพิ่มเป็นสองเท่า ประการสุดท้าย เมื่อผู้จัดการกองทุนมีเงินมากและเงินเหล่านั้นจะต้องถูกใช้อย่างรวดเร็ว การตัดสินใจอาจจะทำให้ผลลัพธ์ไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ขายตอนไหนดี คุณต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนนั้นไม่ใช่หุ้น หลักของการซื้อขายหุ้นของคนส่วนมากคือการซื้อถูก ขายแพง เมื่อตลาดหุ้นตกฮวบจึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนส่วนใหญ่จะเทขายหุ้นของตนออกไป แต่ไม่จำเป็นเสมอไปสำหรับกองทุนรวม เพราะกองทุนได้ถูกบริหารความเสี่ยงแล้ว ความสัมพันธ์กับตลาดจึงอาจจะไม่เหมือนกัน การขายกองทุนจึงอาจมีเหตุผลต่างไปจากหลักทรัพย์แบบหุ้น นี่คือตัวอย่างของหลักเกณฑ์ที่จะเตือนคุณว่าอาจจะถึงเวลาขายแล้ว – กอง ทุนที่ผลประกอบการแย่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย กองทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เช่น เปลี่ยนผู้จัดการกองทุนหรือเปลี่ยนกลยุทธการลงทุน สุดท้ายคือ เหตุผลส่วนตัวของนักลงทุน เช่น จุดประสงค์ในการลงทุนของคุณเปลี่ยนไป พอร์ตการลงทุนไม่สมดุล หรือว่าคุณได้ไปถึงจุดหมายที่ต้องการแล้ว
ที่มา www.bblam.co.th บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง