นักการเงินรายหนึ่งกล่าวว่า วิธีการที่จะทำให้เสียภาษีน้อยลงสำหรับบุคคลธรรมดานั้นถือว่ามีทางออกอยู่ไม่น้อย คนที่เสียภาษีในฐาน 20% เกือบทุกคนจะพยายามหาวิธีทำให้พวกเขาเสียภาษีน้อยลง ตามเงื่อนไขหรือช่องทางที่รัฐบาลเปิดให้ บางคนเริ่มที่การซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำดอกเบี้ยค่างวดผ่อนบ้านมาเป็นรายการหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

หากรายได้ยังสูงอยู่ก็สามารถซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตที่อายุ 10 ปีขึ้นไป ก็หักลดหย่อนได้อีก 1 แสนบาท หรือซื้อประกันแบบบำนาญหักได้อีก 2 แสน หรืออาจซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหักได้ประเภทละ 5 แสนบาท หากซื้อ 2 ประเภทหักลดหย่อนได้ 1 ล้านบาท วิธีการนี้เป็นทั้งการออมเงินและหักลดหย่อนภาษีได้

ผู้มีรายได้สูงจริงๆ หลายคนนิยมตั้งบริษัท เพื่อหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากภาษีนิติบุคคลจะมีรายการให้หักลดหย่อนได้มากกว่าบุคคลธรรมดา ยิ่งภาษีนิติบุคคลในปี 2556 เหลือ 20% ย่อมเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนกลุ่มนี้ ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะทำให้มีกำไรหรือไม่มีกำไร กรณีไม่มีกำไรก็ไม่ต้องเสียภาษี

ที่ผ่านมามีนิติบุคคลของไทยบางรายไปจดทะเบียนที่ประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากฐานภาษีต่ำกว่า วิธีการนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับรายย่อยเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น และเป็นความตั้งใจให้มีความสามารถแข่งขันมากขึ้น และเป็นการดึงเอาคนที่ทำธุรกิจให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น หากมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รัฐจะได้ภาษีเข้ามาหมุนเวียนเศรษฐกิจมากขึ้น

คนที่จะต้องรับภาระด้านภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และคนที่เสียภาษีในฐาน 10% แม้ว่าจะพยายามลงทุนตามกฎระเบียบที่รัฐบาลเปิดไว้ก็ไม่คุ้มค่า นี่คือปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของผู้ที่เสียภาษีในเมืองไทย เพราะประเทศไทยมีความลักลั่นทางภาษีมาโดยตลอด อัตราไม่ครอบคลุม ทำให้มีคนเสียภาษีน้อยมาก

การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อรองรับกับการเปิดเออีซี หรือเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจนั้น หากพิจารณาให้ดีจะพบว่ากำไรของบริษัทต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องภาษีเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญอีก เช่น ค่าเครื่องจักรหรือค่าแรง รวมถึงวิธีบริหารจัดการของรัฐ เมื่อลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงแล้ว จะทำให้การลงทุนทางตรง (FDI) มีมากขึ้นหรือไม่ ในเรื่องนี้ภาคธุรกิจทราบดีว่า ในไทยมีสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) อยู่แล้ว ซึ่งให้สิทธิพิเศษด้านภาษีอยู่แล้ว เช่น ไม่ต้องเสียภาษีกี่ปี ตามพื้นที่ที่เข้าไปตั้งโรงงาน

ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงเหลือ 20% ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังคงที่ ระดับภาษีตั้งแต่ 10-37% อาจทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะคนที่เสียภาษีในฐาน 20% ขึ้นไป กลุ่มนี้ถือว่ามีรายได้ค่อนข้างสูง พวกเขามีวิธีการที่จะทำให้การเสียภาษีน้อยลงด้วยช่องทางที่รัฐบาลเปิดไว้ หรือใช้สิทธิด้วยการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในอัตรา 20%

คนรวย ได้ลดหย่อนภาษีเยอะ

ขณะที่คนที่อยู่ในฐานที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่า 20% ที่ถือว่าเป็นผู้มีรายได้ไม่สูงจะมีทางเลือกน้อยกว่า เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเงินออม และหากไปลงทุนใดๆ เพื่อนำมาใช้หักลดหย่อนภาษีก็จะไม่คุ้มค่า ดังนั้นคนที่เสียภาษีในฐาน 10-20% จะกลายเป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระภาษีตัวอื่นๆ ที่หดหายไปตามนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลที่หายไปปีละ 5 หมื่นล้านบาท