สุขและทุกข์ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อไม่เลือกสถานที่และเวลา การเข้าใจความทุกข์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และควรมาทำความเข้าใจเรื่องทุกข์กันเสียก่อน ในความเข้าใจของผมนั้น ทุกข์ ก็คือ ทุกขัง โดยไม่ต้องไปเปิดหนังสือหรือตำราไหนมาอ้างอิงทั้งนั้นผมถือว่าตัวเองเข้าใจแบบนี้อาจจะต่างจากคนอื่น อาจผิดเพี้ยนในเชิงวิชาการ แต่ในความคิดผม ทุกข์ ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ใจเราไม่ปกติ
และไม่ว่าอาการเหล่านั้น หรืออารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นจะทำให้ใจเรามีความยินดี เกิดความรู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือต่างๆ นาๆ และไม่ใช่อาการปกติ สิ่งนั้นก็คือทุกข์ทั้งหมด เมื่อมีทุกข์มากระทบ สิ่งที่จะทำให้เราเกิดทุกข์ได้ก็คือ การรับทุกข์มาแล้วไม่ยอมปล่อยทุกข์นั้นออกไป คือ ขังทุกข์ไว้ หรือ ทุกขัง-ขังทุกข์ แล้วแต่จะพิจารณา เพราะเมื่อไม่ยอมปล่อยไปก็เป็นทุกข์ที่ต้องเก็บเอาไว้
แล้วจะทำอย่างไรให้ตัวเองพ้นทุกข์ ง่ายๆ วิธีเดียวคือ ก็แค่ปล่อยสิ่งที่เรียกว่าทุกข์นั้นลง หรือทิ้งมันไป ให้รู้สึกยินดีหรือไม่ยินดีแล้วปล่อยไป ก็จบ…ทำยาก แต่ไม่ใช่จะทำไม่ได้ แค่อย่าไปเก็บมันไว้ ทำแรกๆ มันยาก จึงต้องเรียนรู้วิธีการดับทุกข์ โดยการเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่
ดับทุกด้วยการเปลี่ยนความคิด
ดูเหมือนมันจะง่าย แต่คนเราจะเกิดทุกข์ได้ทุกเมื่อและทำให้พ้นทุกข์นั้นยาก ยกตัวอย่างซักหนึ่งกรณี ในเรื่องทุกข์นี้ คือ การตำเหนิติเตียนผู้อื่นทำให้ตนเองเป็นทุกข์ ความหมายคือ ไปด่าคนอื่น ไปติเตียนคนอื่น แทนที่คนที่โดนด่าโดนติเตียนนั้นจะเป็นทุกข์ เราเสียเองที่กลับเป็นทุกข์ซะเอง การตำหนิติเตียนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่ควรทำ แต่หากจำเป็นก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด ในทางพุทธศาสนานั้นถือเป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์อย่างร้ายแรง แทนที่จะแก้ไขคนอื่นเราควรแก้ไขที่ตัวเราเองให้พ้นทุกข์
การตำหนิติเตียนผู้อื่น แม้เขาจะผิดจริงหรือไม่ผิดก็ตาม ก็ถือเป็นการไปก่อกวนจิตใจทั้งตัวเขาและตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นแล้วควรพิจารณาตนเองเป็นอันดับแรก แนวทางพุทธศาสนานั้นเน้นในเรื่องการคิดและรู้จักตนเองมากกว่าการไปใส่ใจในผู้อื่น
ไม่มีใครชอบถูกตำหนิหรือดุด่า เพราะการแสดงออกถึงความไม่พอใจหรือเกลียดชัง ถ้าเขายอมรับและนำไปแก้ไขก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับหรือโกรธที่ถูกตำหนิก็จะกลายเป็นการทำลายความสัมพันธ์ หรืออาจจะสร้างศัตรูให้ตนเองแบบไม่รู้ตัว คนบางคนจะเก็บเอาคำตำหนินั้นไว้ในใจไม่แสดงออกมา ก็เป็นการสร้างความทุกข์ใจให้ตนเองที่ไม่มีเหตุผลเลย เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย มีแต่เราที่คิดอยู่ฝ่ายเดียว ทำให้จิตใจขุ่นมัววุ่นวายไม่จบไม่สิ้น
เหตุผลที่คนจะมีการตำหนิติเตียนผู้อื่น
มีอะไรบ้างลองมาดูกัน และควรทำอย่างไรเพื่อจะหักห้ามใจไว้
- – เป็นคนรักความยุติธรรม ไม่ชอบโดนเอาเปรียบ เช่นเห็นคนไม่มีมารยาทในการขับรถ ชอบแซงคิว ชอบคุยเสียงดัง หรือเห็นความไม่ยุติธรรม คนพวกนี้มักจะตำหนิติเตียนคนอื่นทั้งออกนอกหน้าและเก็บไว้ในใจเป็นการครุ่นคิดเจ็บแค้น
- – เป็นคนหวังดี อยากให้ผู้อื่นเลิกพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เป็นเพื่อน เป็นญาติ เป็นคนรู้จัก หรือลูกหลานตนเอง อยากจะให้คนอื่นเป็นคนดีมีระเบียบและน่ารัก
- – เป็นคนที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะเป็นผู้รักษากฏ หรือมีหน้าที่ ที่ต้องรักษาระเบียบเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
- – เป็นคนอคติสูง ถือตัว รังเกียจคนที่ไม่ถูกชะตาหรือต่างกับตนเอง
- – เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น ให้อภัยคนอื่นยาก ชอบถือโทษโกรธเคียง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็กๆ เจ้าระเบียบ เป็นคนขี้รำคาญ
ปรับเปลี่ยนแนวคิดชีวิตไม่เป็นทุกข์
ถ้าเป็นคนรักในความยุติธรรม ก็ต้องคิดปรับใหม่ ว่าคนที่ทำให้เราเป็นทุกข์นั้นโดยพื้นฐานเป็นคนหยาบ เห็นแก่ตัว ไม่ยอมทำตามกติกา ไม่มีมารยาท ถ้าเราไปโมโหใส่เขา ไปตำหนิติเตียนเขา เราก็จะอารมเสียเปล่าๆ เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่แคร์สื่อ เพราะถ้าเค้ามีความละอายเค้าคงจะไม่ทำ หรือคิดไปในทำนองว่า เค้าคงมีเหตุผลของเค้า เราอย่าเอามาเป็นทุกข์จะดีกว่า ถ้าเรื่องใหญ่ๆ ก็ปล่อยให้กฏหมายจัดการไป
ถ้าเป็นคนหวังดีเกินไป ก็ควรเปลี่ยนจากการตำหนิติเตียนเขาเป็นการแนะนำและสั่งสอนด้วยความปรารถนาดีแทน แต่ก็ต้องหาวิธีหรือกุศโลบายที่แยบยลที่จะทำให้เขาคิดได้และยอมรับได้ และจบได้สวย วิธีนี้อาจนำไปใช้กับกรณีแรกก็ได้
ถ้าเป็นคนที่ต้องทำตามหน้าที่ ขัดไม่ได้ ก็ให้ทำในเชิงป้องกัน เช่น ประกาศให้ทราบโดยทั่วถึงกันถึงกฏและระเบียบที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม จัดการฝึกอบรมให้เข้าใจ หากมีการทำผิดก็ควรจะอธิบายให้ทราบด้วยเหตุผล ไม่ตำหนิติเตียนด้วยความโมโห หากขัดขืนก็ควรลงโทษตามวินัยที่กำหนดไว้
ถ้าคุณเป็นคนที่มีอคติสูง ถือตัว รังเกียจคนอื่นที่ไม่เหมือนตนด้วยมาตรฐานของตนเอง ควรจะหัดฝึกความถ่อมตัว ยอมแพ้ลงเสียบ้าง ให้ถือว่าต่างคนต่างมีอิสระ และมีวิธีคิดในการดำรงชีวิตต่างๆ เป็นของตนเอง อย่าไปตำหนิคนอื่นในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ถ้าเขามีส่วนทำให้เราได้รับผลกระทบไปด้วยก็ต้องหาทางป้องกันตัวเอง อดทน อย่าไปใส่ใจ อย่าไปถือสา หรือหลีกเลี่ยงที่จะมีส่วนร่วมหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจกรรมนั้นๆ เสีย
สุดท้าย ถ้าคุณเป็นคนที่ให้อภัยคนอื่นได้ยาก ชอบถือโทษโกรธเคืองคนอื่น แม้แต่เรื่องเล็กน้อย เจ้าระเบียบ ขี้รำคาญ คุณควรฝึกการให้อภัยให้มากๆ ให้ถือว่าเป็นการทำทานเสีย ในโลกนี้มีคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ตามสัญชาตญาณของตัวเองมากมาย เพราะไม่ได้ถูกอบรมมาอย่างดี ถ้าเราไปถือโทษโกรธเคืองเขา ก็เหมือนเอาพิเสนไปแลกเกลือ จิตเราก็จะขุ่นมัว ไม่คุ้มกับได้
ทุกข์ในทุกๆ กรณีมีเหตุผลและมีทางออกในแบบของมัน ลองมองและพิจารณาให้ถี่ถ้วน แล้วคุณจะทราบทางออกให้ใจคุณได้…พ้นทุกข์ ..